"เพื่อพี่น้องประชาชนชาวสุพรรณบุรี
จะได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพให้มีความรู้และทักษะสูง
เพียงพอที่จะนำไปประกอบอาชีพ"
     ปลายปี พ.ศ.2529 ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา และคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีหนังสือแจ้งความประสงค์บริจาคที่ดินจำนวน 9 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา ให้กับกรมอาชีวศึกษา เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้ง "โรงเรียนสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี" เมื่อวานที่ 1 ตุลาคม 2529 เพื่อพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรี จะได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพให้มีความรู้และทักษะสูงเพียงพอที่จะนำไปประกอบอาชีพ เป็นการเพิ่มศักยภาพของชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น

     ต่อมาประเทศมีความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมทางการเกษตร ความต้องการภาคแรงงาน จึงเปลี่ยนจากกึ่งฝีมือ ไปเป็นช่างฝีมือ และช่างเทคนิคเพิ่มขึ้น สถานศึกษาแห่งนี้จึงจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตช่างฝีมือและช่างเทคนิคให้กับการอาชีวศึกษา ด้วยการเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

     และตามที่กรมอาชีวศึกษา ได้เสนอร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องปรับปรุงโรงเรียนสารพัดช่างเป็นวิทยาลัยสารพัดช่าง และศูนย์ฝึกวิชาชีพเป็นวิทยาลัยการอาชีพ ต่อกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี จึงได้รับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เป็น วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 จนถึงปัจจุบัน
เอกลักษณ์ของวิทยาลัย “อาชีวะสู่ชุมชน” 
พ.ศ.2529 - 2530
จัดตั้งโรงเรียนสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี กรมอาชีวศึกษาได้มีคำสั่งให้นายสุโข มีอินทร์เกิด ศึกษานิเทศก์กรมอาชีวศึกษา มาทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่ และเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 225 ชั่วโมง เป็นรุ่นแรก 4 คณะวิชา 9 แผนกวิชา
พ.ศ.2534
ยกฐานะเป็นวิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2534
พ.ศ.2536
กรมอาชีวศึกษาได้มีคำสั่งให้นายไพศาล จริตพจน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างราชบุรี มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ เปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง และสาขาวิชาพาณิชยการ
พ.ศ.2540
กรมอาชีวศึกษาได้มีคำสั่งให้นายชูเกียรติ เขียนประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ เปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระบบทวิภาคี สาขาวิชาช่างกลโรงงาน
พ.ศ.2543
สถานศึกษาได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาวิชาชีพ ประจำปีการศึกษา 2543
พ.ศ.2547
• สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายทองพูน กิ่งนาค ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพนมทวน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการฯ เปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระบบทวิภาคี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และได้เปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระบบทวิภาคี 3 สาขาวิชา คือ สาขางานติดตั้งไฟฟ้า สาขางานเทคโนโลยีสำนักงาน และสาขางานการบัญชี และปลายปีเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายสาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการฯ เปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มอีก 2 สาขาวิชา คือ สาขางานอิเล็กทรอนิกส์ และสาขางานช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล
• สถานศึกษาได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาวิชาชีพ ประจำปีการศึกษา 2547
พ.ศ.2548 - 2549
เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระบบทวิภาคีและเทียบโอนสะสมหน่วยกิต อำเภอต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์อำเภอดอนเจดีย์ ศูนย์อำเภอเดิมบางนางบวช และศูนย์อำเภอสามชุก และยังได้จัดทำความร่วมมือกับบริษัทโชคนำชัย ออโต้เพรสซิ่ง จำกัด เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคนิคการผลิต 
พ.ศ.2550
สถานศึกษาได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับการศึกษาวิชาชีพ ประจำปีการศึกษา 2550
พ.ศ.2551
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายประภาส คงสบาย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฯ เปิดทำการสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น สาขาคหกรรมทั่วไป (ตัดผมชาย) สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาศิลปกรรม (ดนตรีสากล)
พ.ศ.2552
จัดตั้งสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ R-Radio Network 104.25 MHz. และเปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร (ปวช.) เพิ่มอีก 1 สาขา คือ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ
พ.ศ.2561
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นางรื่นฤดี  สินธวาชีวะ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ เปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระบบทวิภาคี จำนวน 4 สาขางาน คือ สาขางานเทคนิคยานยนต์ สาขางานไฟฟ้า สาขางานการบัญชี และสาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
พ.ศ.2563
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายไพบูลย์  คำภาพักตร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2564 - ปัจจุบัน
จัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคกลาง 2 ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับภูมิภาคให้สอดคล้องการพัฒนาอาชีพผู้เรียนและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และเปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคปกติ และภาคสมทบ 
สาขาที่เปิดทำการเรียนการสอน ตามหลักสูตรพุทธศักราช 2567
หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
• สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล
• สาขาวิชาการบัญชี
• สาขาวิชาธุรกิจคหกรรม
• สาขาวิชาช่างยนต์
• สาขาวิชาช่างกลโรงงาน
• สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ
• สาขาวิชาช่างไฟฟ้า
• สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์
• สาขาวิชาอุตสาหกรรมดนตรี
หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
• สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล
หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคสมทบ
• สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล
• สาขาวิชาการบัญชี
• สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล
• สาขาวิชาไฟฟ้า
36 ปี
คืนสู่เหย้าศิษย์เก่าสารพัดช่าง ครั้งที่ 1
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565
พบปะสังสรรค์ศิษย์เก่าและครู เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีในหมู่ศิษย์เก่า